PhraKrueng

Old Tiger Skin takrut “หลวงพ่ออี๋”

COLLECTION TAKOOD LP E THAI BUDDHA AMULET PENDANT1COLLECTION TAKOOD LP E THAI BUDDHA AMULET PENDANT3 COLLECTION TAKOOD LP E THAI BUDDHA AMULET PENDANT2

 

พระครูวรเวทมุนี  (หลวงพ่ออี๋) วัดสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

หลวงพ่ออี๋

ท่านชื่อ อี๋ มาแต่แรก ท่านเป็นบุตรชาย นายขำ นางเอียง ทองขำ เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2408 ตรง กับวันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำเดือน 11 ปีฉลู ที่บ้านตำบลสัตหีบ กิ่งอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

เมื่ออายุ 25 ปีได้อุปสมบทที่วัดอ่างศิลานอก ซึ่งบัดนี้ได้ยุบรวมเข้าเป็น วัดอ่างศิลาวัดเดียว โดยมีพระอาจารย์จั่น จนฺทโส เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมีพระอาจารย์ทิม เป็นกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์แดงเป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ได้ตั้งฉายาว่า “พุทธสโร” และในช่วงโอกาสนั่นเอง หลวงพ่ออี๋ก็ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย คลองด่าน และยังกล่าวกันอีกว่า หลวงพ่อแดงและหลวงพ่อเหมือนก็เป็นพระอาจารย์ท่านด้วยเช่นกัน

วัดสัตหีบ (วัดหลวงพ่ออี๋) เป็นวัดที่หลวงพ่ออี๋ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2442 และท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก หลวงพ่ออี๋มีความชำนาญในด้านสมถะวิปัสสนาธุระมากคือ คล่องแคล่วในการเข้าใน ออกนอก และในการพักจิตอยู่เป็นกสิณ และในธรรมารมณ์ตามปรารถนา จะเรียกว่า มีวสีภาพก็ควร เพราะเมื่อท่านปรารถนาจะสำรวมจิตแล้ว ไม่มีอะไรมาขัดขวางทางเดินภายในของท่านได้ เป็นการเข้าออกได้เรียบร้อยตามประสงค์

เมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติแล้วท่านจะเหนือว่าพระเถระอื่น ๆ มากทีเดียวเพราะท่านสามารถยกจิตให้พ้นจากเวทนาได้เสมอ ดังจะเห็นได้จากเวทนาที่เกิดขึ้นจากความหนาว ร้อน หิว กระหาย ปวด บวม ระบม เป็นต้น ท่านไม่เคยปริปากบ่นในเรื่องทุกขเวทนาดังกล่าวให้ผู้อื่นได้ยินเลย แม้การเจ็บป่วยเจ็บป่วยของท่าน คงอยู่ในอาการสงบเป็นปรกติจนหมดอายุขัย

หลวงพ่ออี๋”  ได้สร้างพระเครื่องรางต่างๆ ไว้มาก รวมทั้งปลัดขิกที่มีชื่อมาก (พอๆ กับหลวงพ่อเหลือ แปดริ้ว) ทั้งตะกรุด เสื้อยันต์ เหรียญ พระปิดตา พระสาม” และ พระสี่” (พรหมสี่หน้า) กล่าวกันว่าในระยะ พ.ศ. 2483-86 นั้น หลวงพ่ออี๋ก็มีของดีเกรียงไกรออกสู่สงครามอินโดจีนไปก็มาก ชื่อเสียงของท่านดังขนานไปกับหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกทีเดียว พระเครื่องรางของขลังของหลวงพ่ออี๋มีสร้างออกมามากแบบเอาใน พ.ศ. 2484 และตาม พ.ศ. นี้เอง พระสาม” และ พระสี่” หรือ พระพรหมสี่หน้า ก็ได้กำเนิดตามออกมาด้วย พระทั้ง 2 พิมพ์เป็นพระเนื้อเมฆพัด องค์หนึ่งทำเป็นพระ 3 หน้าพระทับนั่งบนฐานบัวกลีบ (3 หน้า 3 องค์) ส่วนพระสี่หรือพรหมสี่หน้าก็ทำเป็นพระประทับนั่งบนฐานเขียงเหมือนกันทั้ง 4 หน้า (4 หน้า 4 องค์) ด้านพุทธคุณมีทั้งแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี

พระครูวรเวทมุนี (หลวงพ่ออี๋) ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นท่านได้สร้างโรงเรียนประชาบาล 1 หลัง ชื่อว่า โรงเรียนบ้านสัตหีบ” ที่ย้ายมาตั้งที่ถนนบ้านนา ชาวบ้านเรียนว่า โรงเรียนบ้านนา” ส่วนอาคารเรียนเดิมชื่อ “ศาลาธรรมประสพ” ปัจจุบัน คือ ห้องสมุดของวัดสัตหีบ”

ท่านหลวงพ่ออี๋เริ่มอาพาธในอวสานแห่งชีวิตครั้งนี้ ด้วยโรคฝีที่คอ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2489 แต่ท่านก็ไม่ได้ใส่ใจรักษานัก ท่านเคยปรารภว่ามันจะมาเอาชีวิตท่าน คงใช้แต่ยาของท่านเองบ้าง ปิดบ้าง พอกบ้าง ใช้น้ำมนต์บ้าง เรื่อยมาและไม่หยุดการรับนิมนต์ในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น โรคฝีได้กำเริบขึ้นเป็นลำดับมา จนเข้าพรรษาแล้ว พิษของฝีจึงแสดงอาการให้ต้องพักทำวัตรสวดมนต์

กำลังของท่านเริ่มลดลง หัวฝีเล็ก ๆ ใต้คางด้านขวาก็เริ่มบวมมากขึ้น มีผู้ห่วงใยแนะนำท่านให้เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดเสีย ท่านก็บอกว่า

“ช่างมันเถอะ เป็นกรรมเก่าของฉัน เจ้ากวางหนองไก่เตี้ย มันมาตามทวงหนี้แล้ว”

เพราะท่านเคยบอกคนใกล้ชิดว่าชาติก่อนเคยไปยิงกวางตัวหนึ่งที่หนองไก่เตี้ย ถูกที่ซอกคอตาย กรรมนั้น จึงตามมาให้ผลแล้ว ท่านก็คิดว่าเป็นกรรมเก่า อยากจะชำระหนี้ให้เสร็จเสียที จึงไม่ได้สนใจรักษาทางแพทย์ปัจจุบัน แม้โรงพยาบาลก็ไม่ได้พูดถึง จนถึงเวลาที่ฝีสุกแก่จัด และโตขึ้นมาก จึงทวีความรุนแรงมากยิ่ง ทำให้กำลังร่วงโรยประกอบกับเข้าสู่วัยชราภาพมาก

แล้วพอถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2489 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ เวลา 20.35 น. หลวงพ่ออี๋ท่านก็บอกให้พระที่นั่งเฝ้าพยาบาลแวดล้อมท่านอยู่ ช่วยประคองให้ท่านลุกขึ้นนั่ง แล้วสั่งไม่ให้ทุกคนแตะต้องตัวท่าน เสร็จแล้วท่านก็นั่งสมาธิตัวตรง เริ่มเข้าสมาธิ

ชั่วครู่สิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง ทำให้ทุกคนตกใจกันสุดขีดคือ ไม้กระดานแผ่นหนึ่ง ซึ่งตั้งพิงฝาผนังภายในกุฏิและตั้งอย่างนั้นมานานแล้ว ก็ล้มโครมลงมาฟาดกับพื้น และกระจกแผ่นหนึ่งที่ติดกับบานประตูตู้ ห่างจากไม้กระดานหลายเมตร ก็กระเด็นหลุดออกมาแตกกระจายทั่วพื้น

ทั้งพระและลูกศิษย์วัดที่คอยนั่งเฝ้าพยาบาลแวดล้อมท่านอยู่ตกใจมาก พอหายตกใจได้สติก็หันมาดูหลวงพ่ออี๋ ซึ่งตรงกับเวลา 21.05 น. ท่านก็นั่งสงบปราศจากลมหายใจเข้าออกเสียแล้ว ข่าวการการมรณภาพก็กระจายไปทั่วกิ่งอำเภอสัตหีบอย่างรวดเร็ว

สิริรวมอายุของท่านได้ 82 ปี ชีวิตหรือวิญญาณของหลวงพ่ออี๋ แม้จะจากไปจนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2542) นับได้ 53 ปี แล้วแต่ก็เหมือนว่าชีวิตของท่านยังดำรงอยู่ ทั้งคุณค่าของงานทางฝ่ายสงฆ์และ ฝ่ายสังคมโลกที่หลวงพ่ออี๋ได้บำเพ็ญบารมีมาตั้งแต่เริ่มบวชจนถึงมรณภาพ บารมีของท่านยังปรากฏอยู่ในวัดสัตหีบ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี

Comments are closed.